วันนี้ (25 มี.ค.2565) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนโรคลัมปี สกินในโค-กระบือ โดยหน่วยพัฒนาวัคซีนของกรมปศุสัตว์ เริ่มพัฒนาวัคซีนในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) มาตั้งแต่เดือนพ.ค.2564 สามารถแยกไวรัสจากตัวอย่างสัตว์ป่วยในประเทศมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองได้สำเร็จ และส่งหัวเชื้อไวรัสต่อให้สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ นำมาขยายปริมาณไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง และผลิตเป็นแอนติเจนที่หมดฤทธิ์ในการก่อโรค
จากนั้นได้ทดลองผลิตเป็นวัคซีน 2 สูตรได้แก่ วัคซีนเชื้อตายในรูปแบบชนิดน้ำ และวัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำมัน โดยผลการทดลองในสัตว์ตามวิธีมาตรฐานการผลิตวัคซีน แสดงให้เห็นว่าวัคซีนทั้ง 2 สูตร มีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในสัตว์ และวัคซีนชนิดน้ำมันให้ความคุ้มโรค 100% สูงกว่าชนิดน้ำที่ให้ความคุ้มโรค 80% โดยวัคซีนชนิดน้ำมันยังให้ความคุ้มโรคต่อเนื่องจนถึงเดือนที่ 7 ซึ่งกรมปศุสัตว์จะดำเนินการทดลองความคุ้มโรคต่อไปอีกจนครบ 12 เดือน
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในพื้นที่จริง (field trial) เมื่อช่วงเดือนธ.ค.2564 กรมปศุสัตว์ได้รับความร่วมมือให้นำวัคซีนต้นแบบชนิดน้ำมันไปทดสอบในพื้นที่ฟาร์มโชคชัย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เปรียบเทียบกับวัคซีนที่ผลิตในต่างประเทศ
ผลการทดสอบเบื้องต้น วัคซีนที่ผลิตจากต่างประเทศ และวัคซีนที่ผลิตกรมปศุสัตว์ มีผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คาดว่าวัคซีนชุดแรกแล้วเสร็จช่วงกลาง พ.ค.นี้ ในราคาต้นทุนโดสละ 9 บาท
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคลัมปี สกิน จำเป็นต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ได้นำเข้า 5.3 ล้านโดส ใช้งบ 160 ล้านบาท และภาคเอกชน สมาคมและกลุ่มเกษตรกรนำเข้ามาอีก 500,000 โดส มูลค่า 22.5 ล้านบาท มูลค่ารวมกว่า 180 ล้านบาท
คาดล็อตแรก 1 แสนโดสต่อเดือน-ต้นทุนแค่ 9 บาท
ขณะนี้กรมปศุสัตว์ เร่งขยายกำลังการผลิตวัคซีนจากระดับห้องปฏิบัติการ สู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยีการผลิตในขวดเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมของการผลิตวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย และที่สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์มีองค์ความรู้และมีบุคลากรที่มีความชำนาญ โดยเทคโนโลยีการผลิตดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณการผลิตวัคซีนที่ 50,000-100,000 โดสต่อเดือน
โดยตลอดกระบวนการผลิตใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ และคาดว่าจะผลิตวัคซีนชุดแรกแล้วเสร็จช่วงประมาณกลางเดือนพ.ค.นี้ ในราคาต้นทุนโดสละ 9 บาท ในช่วงปีแรกมิ.ย.65-พ.ค.66 สามารถผลิตวัคซีนได้ มีมูลค่า 6 ล้านบาท หากต้องนำเข้าจากต่างประเทศต้องใช้งบถึง 27 ล้านบาท จะช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มากถึง 21 ล้านบาท
การผลิตวัคซีนลัมปี สกิน ใช้ในประเทศต้องจะลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ปีละ 280 ล้านบาทจากการนำเข้าวัคซีน 8 ล้านโดส ต้องใช้งบ 360 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดแผนกระจายวัคซีน "ลัมปี- สกิน" 5 ล้านโดส 65 จังหวัด
ที่มา thaipbs