Top Headlines

15 มีนาคม #โควิดวันนี้ ติดเชื้อ 1.9 หมื่นคน เสียชีวิตอีก 70 ราย รวมสะสมปีนี้ติดเชื้อแล้ว 1 ล้านคน

 


🇹🇭 ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 📆วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 รวม 19,742 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 19,690 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 52 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,003,262 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) --------------------- หายป่วยกลับบ้าน 24,125 ราย หายป่วยสะสม 812,919 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 221,436 ราย --------------------- เสียชีวิต 70 ราย

สธ. เฝ้าระวัง Omicron สายพันธุ์ BA.2.2 ในไทย

1. ข้อมูลปัจจุบัน สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ยังไม่ถูกประเมินเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง 

2. ยังไม่มีการพิจารณาจากองค์กรควบคุมโรคใดให้ความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังทุกสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคโควิดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งวิธีตรวจเฉพาะจุดกลายพันธุ์ และตรวจลำดับเบสทั้งตัว

ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


📌ตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลด้วยตนเอง ง่าย ๆ เพียง 4 ขั้นตอน

“บัตรทอง” หรือ “สิทธิสปสช.” คือสิทธิรักษาพยาบาล ให้กับผู้ที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้  ยกเว้นว่าจะมีสิทธิรักษากับประกันสังคม และสิทธิบัตรข้าราชการอื่น ๆ 

ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีช่องทางการตรวจสอบสิทธิ (เช็คสิทธิรักษาพยาบาล) ของตนเองได้ง่าย ๆ 4 ช่องทางดังนี้

1. โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2

2. เว็บไซต์ www.nhso.go.th เลือก สำหรับประชาชน เลือก ตรวจสอบสิทธิ หรือ คลิก https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml

3. แอปพลิเคชัน สปสช. ทั้งระบบ Android และ iOS เลือก ตรวจสอบสิทธิตนเอง

4. ตรวจสอบสิทธิผ่าน ไลน์ สปสช. โดยสแกน QR CODE หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิ 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของ สปสช. ได้ที่ เว็ปไซค์ : www.nhso.go.th

youtube : https://www.youtube.com/c/nhsothailand

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


สธ. เผย Omicron เป็นสายพันธุ์ระบาดหลักในไทย 99.7%

พบ 4 ราย เข้าข่ายกลายพันธุ์ BA.2.2 เชื้อเดียวกับฮ่องกง

ยืนยัน ยังไม่พบสัญญาณน่ากังวล

กระทรวงสาธารณสุข เผย โควิดในประเทศไทยเป็น “โอมิครอน” 99.7% สัดส่วน BA.2 เพิ่มขึ้นจาก 52% เป็น 68% และพบ 4 ราย ที่มีการกลายพันธุ์ S:I1221T เข้าข่าย BA.2.2 แต่ต้องรอการวิเคราะห์รายละเอียดและการกำหนดชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการจาก GISAID

จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ช่วงวันที่ 5-11 มีนาคม 2565 พบสายพันธุ์เดลตาเพียง 6 ราย คิดเป็น 0.3% ที่เหลือ 1,961 ราย เป็นสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็น 99.7% และเมื่อจำแนกสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนพบเป็น BA.1 จำนวน 610 ราย คิดเป็น 32% และ BA.2 จำนวน 1,272 ราย คิดเป็น 68% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่พบ 52% และมีการกระจายทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ

โดย BA.2 ยังมีการแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยอีก 3 สายพันธุ์ คือ BA.2.1 , BA.2.2 และ BA.2.3 ซึ่งเป็นการแบ่งของกลุ่มนักวิเคราะห์ข้อมูลที่เตรียมส่งเข้ามายังฐานข้อมูลโลก GISAID ซึ่ง BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามตำแหน่ง I1221T (S:I1221T) ที่มีรายงานพบมากที่ฮ่องกง และพบได้บ้างที่อังกฤษ ตามที่มีการเสนอข่าวในช่วง 2-3 วันมานี้นั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้นในฮ่องกง เนื่องจากการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นต้องมีการติดเชื้อมาก่อนอย่างน้อย 7-8 วัน และหากมีการติดเชื้อจำนวนมากจนเกินกว่าระบบการแพทย์รองรับได้ก็อาจทำให้การเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังไม่พบหลักฐานว่าทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ปอดมากขึ้นหรือทำลายอวัยวะมากขึ้น และในอังกฤษก็ไม่ได้พบการติดเชื้อหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่างจากเดิม

สำหรับประเทศไทยมีการตรวจโดยการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งตัวประมาณ 500-600 รายต่อสัปดาห์ ขณะนี้พบ 4 ราย ที่มีโอกาสเป็นสายพันธุ์ BA.2.2 โดยเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย แต่รายละเอียดต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความสามารถในการแพร่เชื้อ ความรุนแรง หรือความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อหรือวัคซีน ยังไม่พบสัญญาณที่น่ากังวล

ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข


กรมบัญชีกลาง กำหนดแนวทางการเบิกค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด 19 กรณีต้องแยกกักตัวที่บ้าน (Self Isolation) เพื่อให้สถานพยาบาลของทางราชการนำหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่าย กรณีการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกและการแยกกักตัวที่บ้าน (Self Isolation) ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด มาใช้กับการเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยมีอัตราการจ่ายค่าใช้จ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ดังนี้

​1. ค่าบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิด 19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแบบบริการผู้ป่วยนอก จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาทต่อราย โดยครอบคลุมรายการดังนี้ 

   (1) ค่าบริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน 

   (2) การให้ยาที่เป็นการรักษาโรคโควิด 19 ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร หรือ Favipiravir (เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข) ตามแนวทางกรมการแพทย์ และหรือยารักษาตามอาการรวมค่าจัดส่ง 

   (3) การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง 

   (4) การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ

2. ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อได้รับคำปรึกษาจากผู้ป่วยโควิด 19 หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่นๆ จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 300 บาทต่อราย

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 191 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2565 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02 127 7000 ต่อ 6854  4441 ในวัน เวลาราชการ

ที่มา: กรมบัญชีกลาง


นายกฯ คาดธุรกิจไทยฟื้นปี 65 ยอดใช้จ่ายมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ 3 โครงการ รวมกว่า 5.8 หมื่นล้าน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจภาพรวมมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ โดยประชาชนตอบรับโครงการใช้จ่ายประจำวันอย่างต่อเนื่อง โดยความคืบหน้า มาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐของปี 2565 จำนวน 3 โครงการ ที่เปิดให้ใช้จ่ายไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 ประกอบด้วย โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลเพิ่มวงเงินสนับสนุนในการช่วยลดภาระการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของประชาชน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยความคืบหน้าล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565 มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 40.81 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 58,552.88 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มเดิมฯ) จำนวน 25.46 ล้านราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 51,992.4 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มใหม่ฯ) จำนวน 7.85 แสนราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 1,280.6 ล้านบาท 2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 13.32 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 4,858.98 ล้านบาท และ 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 1.24 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 420.90 ล้านบาท

ที่มา : โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


💉➕ จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. 2564 - 13 มี.ค. 2565)

รวม 126,158,379 โดส ใน 77 จังหวัด

📄 ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 13 มีนาคม 2565 💉

ยอดฉีดทั่วประเทศ 71,155 โดส

1⃣ เข็มที่ 1 : 28,868 ราย

2⃣ เข็มที่ 2 : 5,984 ราย

3⃣ เข็มที่ 3 : 36,303 ราย

----------------------------

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 54,415,190 ราย

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 49,990,678


ราย

จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 21,752,511 ราย

แหล่งข้อมูล : MOPH-IC

ใหม่กว่า เก่ากว่า
;