"ว่าที่ผู้ลงสมัคร ผู้ว่าฯ กทม." ทยอยเปิดชื่อแคนดิเดต ทั้งผู้สมัครที่ลงในนามผู้สมัครอิสระ และในนามพรรคการเมือง
แน่นอนแล้วว่า คนกรุงเทพฯ จะได้เลือกตั้งผู้ว่า กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ โดยเปิดรับสมัคร ผู้ลงชิงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 11 ในวันที่ 31 มี.ค. - 4 เม.ย.2565
ระหว่างนี้จึงอยากชวนอ่าน นโยบายของว่าที่ผู้สมัคร แต่ละคนว่ามีการนำเสนอแนวทางในแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้คนกรุงเทพฯ อะไรบ้าง แนวนโยบายตรงใจหรือไม่
เริ่มต้นที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม หนึ่งในว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ในปีนี้ในนามอิสระ เรียกได้ว่าเตรียมความพร้อมเปิดตัวมาเป็นคนแรกๆ ลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนและปัญหา มาตลอดระยะเวลา 2 ปี ขณะที่ความนิยมในตัวนายชัชชาติ ก็ถือว่าเป็นอันดับต้น ๆ ทุกครั้งเมื่อมีการสำรวจทำโพล
ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติเปิดตัว 200 นโยบาย ด้วยแนวคิด "กรุงเทพฯ 9 ดี" ครอบคลุม 9 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี บริหารจัดการดี เรียนดี และเศรษฐกิจดี
นอกจากนี้ ยังเปิดตัวเว็บไซต์ chadchart ช่องทางให้ประชาชนศึกษา ร่วมออกแบบนโยบายด้วย
ชู 200 แนวนโยบาย กรุงเทพฯ น่าอยู่
เกือบ 200 นโยบาย" ของนายชัชชาติมีอะไรน่าสนใจ และมีนโยบายไหนที่ถูกใจสอดรับกับการใช้ชีวิตของคนเมืองบ้าง มีแนวทางอะไรใหม่ พอเป็นความหวังให้กับคน กรุงเทพฯ ได้บ้างลองไปสำรวจดูกัน
เริ่มต้นในด้าน "ความปลอดภัย" มีการเสนอที่จะสร้างแผนที่จุดเสี่ยงด้านอาชญากรรม จราจร และสาธารณภัย, ตั้งศูนย์สั่งการเพื่อความชัดเจน คล่องตัว ในการรับมือกับสาธารณภัย, พนักงาน กทม. เป็นหูเป็นตา ช่วยแจ้งถนนพัง ไฟดับ ทางเท้าทรุด ฯลฯ โดยทุกโครงสร้างพื้นฐานใน กทม. พร้อมใช้ มีเจ้าหน้าที่ดูแลประจำ นอกจากนี้ยังจะมีการพัฒนาที่พักชั่วคราว ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ที่คนไร้บ้านเข้าถึงได้
ดูแลคนไร้บ้าน-พื้นที่ปลอดภัย
ปัจจุบันพบมีคนไร้บ้านประมาณ 1,500-2,000 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งในอดีต กทม.เคยเปิดดำเนินการบ้านอุ่นใจ ศูนย์พักพิงที่พักชั่วคราว เป็นที่พึ่งของคนไร้บ้าน แต่ด้วยข้อจำกัดจึงมีการหยุดดำเนินการไป
ครั้งนี้ จึงเสนอจะเปิดดำเนินการบ้านอุ่นใจอีกครั้งให้บริการเป็นรายการตามความสมัครใจ เช่น บริการตรวจสุขภาพ การสนับสนุนมื้ออาหาร การพักค้างคืนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ตลอดจนการส่งต่อ ส่งกลับภูมิลำเนา หรือการช่วยหางานสร้างรายได้
อีกแนวนโยบายที่ถือว่าเป็นปัญหาลำดับต้น ๆ ของคนกรุงเทพฯ คือ การเดินทางการจราจร ต้องได้รับการแก้ไข มีการเสนอพัฒนารถสาธารณะทั้งระบบ เพิ่มรถสายหลักและรอง ราคาถูก ราคาเดียว และสร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (Hub), ใช้ระบบจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) บริการจราจรทั้งโครงข่ายเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร, พัฒนาจุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ในจุดเชื่อมต่อการเดินทาง, และกรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม.
แก้ปัญหาระบบสาธารณสุข
ตามมาด้วยนโยบายด้านสาธารณสุข "สุขภาพดี" โดยเสนอจะขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียงสู่ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ เสริมศักยภาพ อสส. สู่ Caregiver คุณภาพ, เชื่อมโยงประวัติคนไข้ภายในสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อและดูแลรักษาได้ทั่วกรุงเทพฯ, เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร ในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.), หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine นอกจากนี้ เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย พัฒนาลานกีฬาต้นแบบ 180 แขวง 180 ลาน ภายใน 100 วันแรก ด้วย
ขณะที่มีการเสนอนำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย คลินิกสาธารณสุขเฉพาะทางด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBTQI+ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 แห่ง เท่านั้นที่ให้บริการ ทางการแพทย์กับกลุ่ม LGBTQI+ นั้นก็เพื่อให้คนกลุ่มที่มีความหลากหลาย ได้เข้าถึงการรักษา ในประเด็นจำเพาะ เช่น การใช้ยา-ฮอร์โมน และการผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลาย
เปิดพื้นที่สาธารณะทั้งกีฬา-ศิลปวัฒนธรรม
นอกจากนี้ ยังมีแนวนโยบายที่เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ ลานกีฬา ศิลปวัฒนธรรม ห้องสมุด และย่านเศรษฐกิจ โดยเสนอ สร้าง Open Art Map and Calendar ให้ประชาชนปักหมุดกิจกรรมหรือตามเสพงานศิลป์ได้ทั่วกรุง, เปลี่ยนศาลาว่าการเดิมสู่พิพิธภัณฑ์เมืองฯ และพื้นที่สาธารณะ, ปักหมุดทำฐานข้อมูลรวมพื้นที่ของรัฐและเอกชน ให้ประชาชนเลือกใช้จัดกิจกรรม, ห้องสมุด กทม. สู่ห้องสมุดดิจิทัล ยืมหนังสือออนไลน์ อ่าน E-book ได้จากทุกที่
ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม
ส่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการนำเสนอนโยบายในประเด็น ฝุ่น และมลพิษ พื้นที่สีเขียว การจัดการขยะการจัดการน้ำเสีย และในเรื่องของสัตว์จร โดยเสนอนโยบาย จัดทีม "นักสืบฝุ่น" ศึกษาต้นตอ PM2.5, ตรวจจับรถปล่อยควันดำเชิงรุกจากต้นทาง เช่น สถานีรถโดยสาร และไซต์ก่อสร้าง, เพิ่มพื้นที่สีเขียวและลานกีฬาให้เดินถึงภายใน 15 นาที, แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มุ่งเป้าองค์กรและสร้างพื้นที่เขตต้นแบบ, ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดอายุขัย ป้องกันการสูญหายและการปล่อยปละละเลย
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอนโยบาย "โครงสร้างดี" ให้มีการลอกท่อ ลอกคูคลอง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประสิทธิภาพสูง ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมหาพื้นที่รับน้ำธรรมชาติ, เตรียมจุดทิ้งขยะ จุดซักล้างในทุกพื้นที่การค้าแผงลอย
พัฒนาระบบการขออนุญาตจาก กทม. ให้ประชาชนตรวจสอบและติดตามได้, จัดสรรงบประมาณบริหารกรุงเทพฯ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน, เปิดให้ประชาชนประเมิน ผอ.เขตและผู้ว่า กทม.
ส่งเสริมการศึกษา
ขณะที่ในเรื่องของการศึกษา มีแนวนโยบายใส่ใจคุณภาพชีวิตครูและนักเรียน ชีวิตครูกรุงเทพฯ ดีขึ้น ด้วยการเพิ่มสวัสดิการ และลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี, ขยายเวลาโรงเรียนให้สอดคล้องกับเวลางานของผู้ปกครอง มีครูเฝ้า มีกิจกรรมสร้างสรรค์จากวิทยากรทั้งในและนอกโรงเรียน, เพิ่มหลักสูตรฝึกอาชีพ กทม. ให้สอดคล้องกับฝั่งธุรกิจและการค้าขายออนไลน์
พัฒนาฟรี Wi-Fi ทุกโรงเรียน รองรับการสอนผ่านสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ และการสืบค้นข้อมูล อินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการเรียนรู้ เช่น การเรียนการสอนออนไลน์ (การช่วยสอนจากส่วนกลาง) การสืบค้นข้อมูล
ดังนั้น กทม.จะผลักดันให้มีการติดตั้ง Wi-Fi ฟรีสำหรับทุกโรงเรียนในกรุงเทพฯ โดยนอกจากจะให้นักเรียนใช้สำหรับการเรียนและการสืบค้นแล้วยังจะเปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาใช้งานได้ในวันหยุด เพื่อช่วยผลักดันให้โรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน
ส่งเสริมเศรษฐกิจเมือง
ส่วนในด้านเศรษฐกิจ มีการเสนอเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจเมือง ลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ หาทางออกหาบเร่แผงลอย ยกระดับผู้ค้าแผงลอยให้มีความยั่งยืน เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงิน ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและจัดหาสถานที่ขาย, ปั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ 12 เทศกาลตลอดปี, พัฒนาเศรษฐกิจกลุ่ม Hi-tech เช่น eSports, E-commerce และ Hi-touch เช่น นวด สปา กิจกรรมฝึกจิตใจ
ทั้งหมดคือ แนวนโยบายเบื้องต้นของ "ชัชชาติ" หนึ่งในผู้ชิงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. และน่าติดตามว่า ในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งจะมีการแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่น ๆ ดุเดือดแค่ไหน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“จุรินทร์” มั่นใจ ปชป.โกยที่นั่ง สก. และผู้ว่า กทม.
ปชป.หาตัวนั่ง “ผอ.เลือกตั้ง กทม.” ดึง “อภิสิทธิ์” ช่วยหาเสียง
ที่มา thaipbs