Top Headlines

ปักหมุด "แม่ฮ่องสอน" ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-โบราณคดี


ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการเรื่อง "แม่ฮ่องสอนโมเดล ภูมิทัศนพิเศษทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ" ที่โรงแรมอิมพีเรียลจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าวต้อนรับ

รมว.อว. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก ในพื้นที่ ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีเมื่อปี 2553 ต่อมา รศ.รัศมี ชูทรงเดช หัวหน้าโครงการสืบค้นและจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม พร้อมคณะได้เข้ามาศึกษาและขุดค้นแหล่งโบราณคดีอย่างเป็นระบบ พบหลักฐานทางโบราณคดีหลากหลาย ทั้งกระดูกคน โลงไม้ ภาชนะดินเผา ภาชนะไม้ ลูกปัด ไม้ทอผ้า ผ้า เครื่องจักรสาน เครื่องประดับจากโลหะ กระดูกสัตว์

 

ดีเอ็นเอจากถ้ำผีแมนโลงลงรัก ใกล้เคียงกลุ่มชาติพันธุ์

ที่สำคัญคือการพบชิ้นส่วนกระดูกคนบรรจุอยู่ในโลงไม้ที่ปิดฝาสนิท เป็นครั้งแรกของประเทศไทย จำนวนถึง 154 คน ซึ่งช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานเก่าที่ว่า โลงไม้มีไว้สำหรับการปลงศพ โดยเป็นสุสานของคนในช่วงสมัย 2,000-1,000 กว่าปีมาแล้ว ผลการตรวจดีเอ็นเอกระดูก พบว่า เป็นเครือญาติกันและเป็นดีเอ็นเอที่พบเปรียบเทียบใกล้เคียงกับดีเอ็นเอของกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบันที่พูดตระกูลภาษา "ออสโตรเอเชียติก" และ "ไท-กะได" อีกทั้งทราบว่ามีคนเข้ามาใช้พื้นที่สุสานเป็นเวลา 424 ปี

 

พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน สร้างรายได้ชาวแม่ฮ่องสอน

รมว.อว. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่วิจัยทำให้ได้เห็นโอกาสของการพัฒนาแม่ฮ่องสอนมากมาย แต่อยากให้เสริมเรื่อง “Big Perspective” ระบบความคิดที่ยิ่งใหญ่ เปลี่ยนมุมมองใหม่ที่สร้างสรรค์เชิงกลยุทธ์ จากเดิมที่คิดว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนโดดเดี่ยวและเข้าถึงยาก ให้มองเป็นเรื่องดีที่จะทำให้รักษาของเดิมไว้ได้ ภูมิใจในบรรพชนและอารยธรรมของแม่ฮ่องสอนที่จังหวัดอื่นไม่มี

 

งานวิจัยนี้อยู่ในระดับนำหน้าของอาเซียนและท็อปลีกของเอเชีย มีประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ สิ่งชี้วัดคือคนในพื้นที่จะตอบสนองได้ดีเพียงใด การพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านมามักฝากความหวังไว้ที่ส่วนกลาง แต่สำคัญที่สุดอยู่ที่พื้นที่จะต้องพัฒนาคนให้มากขึ้น ภูมิใจในเอกลักษณ์ ความหลากหลาย และมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่


การทำงานให้ได้ดีต้องสั่งสมและเผยแพร่ Big Perspective ให้ไปถึงชาวบ้าน ทำอย่างไรจึงจะมีการท่องเที่ยวแบบไฮโซ ดึงคนที่มีความรู้ รสนิยมสูง รายได้สูง เข้ามาท่องเที่ยวในแม่ฮ่องสอน

นอกจากนี้ แนะนำผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้รีบจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการศึกษานอกห้องเรียนที่สนุก และให้คนแม่ฮ่องสอนได้เรียนรู้มากที่สุด รวมถึงฝากให้นักวิจัยไปต่อยอดงานวิจัยโดยใช้มุมมองใหม่ที่สร้างสรรค์ในการรักษาความหลากหลายของแม่ฮ่องสอน เพื่อสร้างความร่ำรวยด้านการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด

เล็งพัฒนา "ดิจิทัลมิวเซียม"

ขณะที่ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า แม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ทรัพยากรธรรมชาติแบบหินปูน ซึ่งมีมูลค่าสูง ทำให้จังหวัดมีวัฒนธรรมเฉพาะ จากการค้นคว้าความรู้ สะท้อนว่าแม่ฮ่องสอนไม่ใช่ชายแดน แต่เป็นจุดผ่านสำคัญของการเคลื่อนย้ายประชากรในอดีตหลักหมื่นปี รวมทั้งเกี่ยวข้องเศรษฐกิจระดับโลก การค้าไม้โบราณไปยังยุโรป เป็นจุดเริ่มต้นการค้นพบมนุษย์สมัยใหม่ หรือมนุษย์แรกเริ่ม และเป็นแกนวัฒนธรรมโลงไม้

 

ศ.ดร.รัศมี ต้องการให้เกิดการใช้งานวิจัยเชิงบูรณาการ และทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอเกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การสนับสนุน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ และการให้ทุนนักศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นนักวิจัยกลับมาพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งยังหวังให้มีการพัฒนาดิจิทัลมิวเซียม เพราะงานวิจัยจะช่วยทำเข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมากขึ้น

แม่ฮ่องสอนมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ

 

จากงานวิจัยสู่ "วิชาท้องถิ่นแม่ฮ่องสอน"

ดร.โยธิน บุญเฉลย วิทยาลัยชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวถึงการใช้ประโยชน์งานวิจัยในเชิงพื้นที่ ว่า ต้องนำงานวิจัยที่ลึกและซับซ้อนไปสู่การเรียนการสอน คิดว่างานวิจัยนี้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อยากเสนอให้ขยายองค์ความรู้สู่ผู้สอน พัฒนาสื่อ ชุดการเรียนรู้ และการเรียนรู้ในวิชาท้องถิ่น ทั้งในระดับโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา

ขณะที่ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า สกสว.มุ่งเน้นสนับสนุนเรื่องการศึกษาเชิงพื้นที่ การเรียนรู้ของคนในพื้นที่ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ของคนในพื้นที่ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง รวมถึงการท่องเที่ยวที่มีโอกาสและเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่ โดยออกแบบให้พิเศษและแตกต่างเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของโลก นอกจากนี้ยังต้องต่อยอดชุดความรู้ด้านเกษตรในพื้นที่ ความมั่นคงอาหาร โดยเชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องช่วยกันออกแบบและขับเคลื่อนร่วมกับอุดมศึกษา วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ด้วย

 

ที่มา thaipbs
ใหม่กว่า เก่ากว่า
;