Top Headlines

“เศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย

เศรษฐา นั่งนายกคนที่ 30 

วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ให้ที่ประชุมพิจารณาโดยไม่มีผู้เสนอชื่ออื่นเข้าแข่งขัน

จากที่ก่อนหน้า วันที่ 21 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้มีการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง ซึ่งประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง), พรรคพลังประชารัฐ (40 เสียง), พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง), พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคชาติพัฒนากล้า (2 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง), พรรคท้องที่ไทย (1 ที่นั่ง) นอกจากนี้ยังมีหัวหน้าพรรคใหม่ (1 ที่นั่ง) มาร่วมแถลงข่าวด้วย แต่ไม่ถูกนับเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลตามแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาลผสมที่ออกมา โดยเลขาธิการพรรค พท. ระบุว่า “อยู่ระหว่างดำเนินการ” ทำให้มีเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลจากสภาล่างถึง 314 เสียง


และเมื่อเวลา 15:30 น. ที่ประชุมได้ดำเนินการออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยกระทำเป็นการเปิดเผยตามข้อบังคับฯ ข้อ 56 (2) โดยเรียกชื่อสมาชิกรัฐสภาตามลำดับอักษร ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน โดยได้เสียงสนับสนุนเกิน 365 เสียง ส่งผลให้นายเศรษฐา ทวีสิน ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดยประธานสภาฯ จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

สำหรับญัตติด้วยวาจาของนายรังสิมันต์ โรม ที่เสนอในการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2566 ตามข้อบังคับฯ ข้อ 32(1) เรื่อง ขอให้รัฐสภามีมติทบทวนการพิจารณาลงมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ว่าการเสนอชื่อบุคคลเดิมเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีการพิจารณาว่าไม่สามารถเสนอคนเดิมได้นั้น ประธานชี้เเจงว่า เป็นการเสนอญัตติซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติวินิจฉัยแล้ว ถือว่าคำวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด ต้องห้ามตามข้อบังคับฯ ข้อ 151 วรรคหนึ่ง เเละขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องที่เกี่ยวข้อง จึงสั่งเลื่อนการพิจารณาโดยยังไม่นำญัตติดังกล่าวมาพิจารณา การประชุมในวันนี้ ประธานอนุญาตให้นายรังสิมันต์ โรม ผู้เสนอญัตติดังกล่าวอภิปรายต่อที่ประชุมอีกครั้ง เเละประธานได้ชี้เเจงว่า ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาได้มีความเห็นว่า ญัตติดังกล่าวซ้ำซ้อนกับญัตติที่มีการลงมติเป็นที่เด็ดขาดเเล้วตามข้อบังคับฯ ข้อ 151 ดังนั้น ประธานจึงขอใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ ประกอบข้อบังคับฯ ข้อ 5 (3) และข้อ 151 ที่กำหนดให้ประธานรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับฯ จึงไม่ขอนำญัตติดังกล่าวมาพิจารณา ทั้งนี้ ญัตติของนายสมชาย แสวงการ ที่เสนอในวันนั้นซึ่งเป็นญัตติที่เกี่ยวเนื่องกัน ก็ไม่ขอนำญัตติดังกล่าวมาพิจารณาเช่นเดียวกัน


أحدث أقدم
;